บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
โรงเรียนวัดเขาพระตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎาจังหวัดตรัง รหัสไปรษณีย์ ๙๒๑๖๐ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต ๒ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ๒ ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓
ปีการศึกษา ๒๕๖๓ มีครูจำนวน ๑๕ คน ครูประจำการ ๑๔ คน ( ไม่นับรวมกับผู้บริหาร) ครูอัตราจ้าง ๑ คน มีนักเรียนทั้งหมด ๑๓๕ คน ระดับชั้นอนุบาล จำนวน ๒๔ คน ระดับประถมศึกษา จำนวน ๗๖ คน และระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๓๕ คน ได้ดำเนินการประเมินตนเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามระบบประกันคุณภาพภายในทางการศึกษาตามมาตรฐานของสถานศึกษา ซึ่งได้ กำหนดมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย แบ่งเป็น ๓ มาตรฐาน และ มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็น ๓ มาตรฐาน ได้แก่ คุณภาพของผู้เรียน กระบวนการบริหารและการจัดการ และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสรุปผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา จุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา ซึ่งจะนำเสนอเป็นรายมาตรฐาน ดังนี้
๑. ระดับการศึกษาปฐมวัย สรุปผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับคุณภาพ : ดีเลิศ
มาตรฐานที่ ๑ คุณภาพของเด็ก ผลการประเมินอยู่ในระดับ : ดีเลิศ
จุดเด่น
๑. เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกายน้ำหนักส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์มีทักษะในการเคลื่อนไหวไปตามวัยมีสุขนิสัยในการดูแลสุขภาพของตนหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อโรคภัยและสิ่งเสพติด
๒. เด็กสนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซักถามอย่างตั้งใจ และรักการเรียนรู้ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
๓. เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจแจ่มใส มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นใจกล้าแสดงออก ด้านสังคมมีวินัย มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริตรู้จักแบ่งปัน ประพฤติตนตามวัฒนธรรมไทยและศาสนาที่ตนนับถือ มีพัฒนาการด้านสติปัญญาสนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว รักการเรียนรู้มีทักษะทางภาษาที่เหมาะสมกับวัย
จุดที่ควรพัฒนา
๑. พัฒนาให้เด็กมีน้ำหนักส่วนสูงตามเกณฑ์ของกรมอนามัยและมีร่างกายสมบูรณ์ตามวัยและหลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดและสิ่งมอมเมา จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการดูแลสุขภาพที่ถูกวิธีแก่ผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน เน้นการออกกำลังกาย ทั้งผู้เรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียน ตลอดจนชุมชนด้วย
๒. จัดโครงการ กิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการนักเรียน เช่น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (การทดลอง) การใช้คำถาม ปริศนาคำทาย เป็นต้น เพื่อให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้และฝึกกระบวนการคิด
มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ ผลการประเมินอยู่ในระดับ : ยอดเยี่ยม
จุดเด่น
โรงเรียนมีกิจกรรมและโครงการส่งเสริมให้สถานศึกษามีการสร้าง ส่งเสริม สนับสนุน ให้สถานศึกษาเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยมีโครงการ/กิจกรรม สนับสนุน ได้แก่ กิจกรรมห้องสมุด กิจกรรมการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา กิจกรรมประชุมผู้ปกครองนักเรียน กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้ โครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนและคุณภาพชีวิตของเด็กก่อนเรียนระดับประถมศึกษา
จุดที่ควรพัฒนา
๑. ครูผู้สอนพัฒนาตนเองเพื่อการสอนที่ดีขึ้นให้เป็นไปตามหลักสูตรที่ชัดเจนขึ้น
๒. จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ตามความถนัด ความสนใจ และเต็มศักยภาพโดยเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้จากสภาพจริงสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และได้เรียนรู้อย่างหลากหลายไม่จำกัดเฉพาะในหนังสือเรียนหรือสาระเนื้อหาที่กำหนดในหลักสูตร
๓. ควรจัดระบบนิเทศภายในอย่างต่อเนื่อง ครบวงจร นิเทศ ติดตาม ควบคุม กำกับ ประเมินผลและนำผลการประเมินเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ปัญหาและพัฒนาต่อไป
๔. ควรร่วมพลังเครือข่ายศูนย์ปฐมวัย เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถานศึกษาต่าง ๆ ในการปฏิรูปการเรียนรู้และก้าวเดินไปด้วยกันอย่างภาคภูมิใจบนพื้นฐานของความสำเร็จร่วมกัน
มาตรฐานที่ ๓ การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ ผลการประเมินอยู่ในระดับ : ดีเลิศ
จุดเด่น
๑. เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างสมดุลเต็มศักยภาพ ๒. โรงเรียนมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้มีสื่อและเทคโนโลยีที่ เหมาะสมกับวัย
จุดที่ควรพัฒนา
๑. พัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายใน และภายนอกห้องเรียนให้มากขึ้น
๒. การปลูกฝั่งการมีระเบียบวินัย และการเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
๓. การปลูกฝังพฤติกรรมการรักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่อง
๒. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สรุปผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับคุณภาพ : ดีเลิศ
มาตรฐานที่ ๑ คุณภาพของผู้เรียน ผลการประเมินอยู่ในระดับ : ดีเลิศ
จุดเด่น
ผู้เรียนอ่านหนังสือออก และอ่านคล่อง รวมทั้งสามารถเขียนเพื่อการสื่อสารได้ทุกคน สามารถใช้เทคโนโลยีในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนอยู่ในระดับ ดี
ผู้เรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสมรรถภาพทางกายและน้ำหนักส่วนสูงตามเกณฑ์ มีระเบียบวินัย จนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา เป็นที่ยอมรับของชุมชนโดยรอบ
จุดควรพัฒนา
ผู้เรียนในระดับชั้น ป.๑ - ป.๖ ยังต้องเร่งพัฒนาด้านการนำเสนอ การอภิปราย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมเหตุสมผล และต้องพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ ได้อย่างเหมาะสม ผู้เรียนในระดับชั้น ม.๑ - ม.๓ ยังต้องได้รับการส่งเสริมในด้านทัศนคติที่ดี ต่อความเป็นไทย ไม่หลงใหลกับค่านิยมต่างชาติ จนเกิดการลอกเลียนแบบ ทำให้ลืมวัฒนธรรม อันดีงามของไทย
มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ ผลการประเมินอยู่ในระดับ : ยอดเยี่ยม
จุดเด่น
โรงเรียนวัดเขาพระ มีการบริหารและการจัดการอย่างเป็นระบบ โรงเรียนวัดเขาพระ ได้ใช้เทคนิคการประชุมที่หลากหลายวิธี เช่น การประชุมแบบมีส่วนร่วม การประชุมระดมสมอง การประชุมกลุ่ม เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ที่ชัดเจน มีการปรับแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปี ที่สอดคล้องกับผลการจัดการศึกษา สภาพปัญหา ความต้องการพัฒนา และนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรโรงเรียนวัดเขาพระ
ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ มีการดำเนินการนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล การดำเนินงาน และการจัดทำรายงานผลการจัดการศึกษา และโรงเรียนได้ใช้กระบวนการวิจัยในการรวบรวมข้อมูล เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการวางแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
จุดควรพัฒนา
๑. เปิดให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน
๒. สร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้มีความเข้มแข็งมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา และการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษา
มาตรฐานที่ ๓ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผลการประเมินอยู่ในระดับ : ดีเลิศ
จุดเด่น
ครูมีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการพัฒนาการสอน โดยการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยการคิด ได้ปฏิบัติจริง มีการใช้วิธีการและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้นักเรียนแสวงหาความรู้จากสื่อเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการสอนซ่อมเสริมให้กับนักเรียนที่เรียนอ่อน นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และสอนเพิ่มเติมเสริมความรู้ให้กับนักเรียนทุกคนทุกระดับชั้น นักเรียนได้เรียนรู้โดยการลงมือกระทำ ได้ปฏิบัติจริง นักเรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนหลายแห่ง เช่น วัดเขาพระ วัดควนเมา ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
จุดควรพัฒนา
ควรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ และการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนทันทีเพื่อนักเรียนนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง

(นายพิทักษ์ จอมเมือง)
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาพระ
|