[x] ปิดหน้าต่างนี้
T&T-2018 All rights reserved ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ สพป.ตรัง เขต 2.

เรื่อง : รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self Assessment Report) ปีการศึกษา ๒๕๖๓
ผู้เขียน : โรงเรียนบ้านหนองศรีจันทร์
วันที่   11   พฤษภาคม   2564
เข้าชม : 190
Bookmark and Share


บทสรุปของผู้บริหาร

ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา 

ชื่อ โรงเรียนบ้านหนองศรีจันทร์  ที่อยู่ ๕๗ หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองบัว  อำเภอรัษฎา  จังหวัดตรัง  สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต ๒ 

          ชื่อผู้บริหารโรงเรียน นางภวันตรี  บุญเกียรติ   เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๒-๔๓๓๗๖๓๕

          จำนวนครู ๑๒ คน จำแนกเป็น ข้าราชการครู  ๙ คน  ครูอัตราจ้าง  ๒ คน                                                                     ครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน  ๑  คน

          จำนวนบุคลากรอื่น  ๑  คน  คือ เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน

          จำนวนนักเรียน   รวม  ๒๐๙  คน  จำแนกเป็นระดับอนุบาล ๔๒  คน ระดับประถมศึกษา  ๑๖๗ คน

          เปิดสอนในระดับ ชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

โรงเรียนบ้านหนองศรีจันทร์  มีการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ โรงเรียนมีการบริหารและการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีการปรับแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา แผนปฏิบัติการ  การจัดการ ศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการพัฒนาและนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้ คุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินการนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล การดำเนินงาน และจัดทำรายงานผลการจัดการศึกษา

ด้านผู้เรียนมีพัฒนาการเหมาะสมกับวัยผู้เรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสมรรถภาพทางกายและน้ำหนัก ส่วนสูงตามเกณฑ์ มีระเบียบวินัย มีจิตอาสา จนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษาเป็นที่ยอมรับของชุมชนโดยรอบในเรื่อง กีฬา  มีจิตสาธารณะและได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งผลให้นักเรียน อ่านหนังสือออกและอ่านคล่อง รวมทั้งสามารถเขียนเพื่อการสื่อสารได้ทุกคน สามารถใช้เทคโนโลยีในการแสวงหา ความรู้ได้ด้วยตนเอง มีทักษะในการทำงาน  สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการ เรียนของนักเรียนสูงเป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ปกครองและชุมชน

ด้านครูมีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการพัฒนาการสอน โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยกระบวนการคิด ได้ ลงมือปฏิบัติจริง มีการใช้สื่อการเรียนรู้และเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลาย มุ่งเน้นให้นักเรียนแสวงหาความรู้จากสื่อ เทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และใช้ ผลการวิจัยในชั้นเรียนของครูทุกคนมาพัฒนานักเรียน ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากชุมชนด้วยดี โรงเรียนส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ และยังเป็นที่ปรึกษา ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาและยังได้เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมหวงแหนและร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาในท้องถิ่น

ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา

๑.  ระดับการศึกษาปฐมวัย

๑.๑  มาตรฐานที่ ๑  คุณภาพของเด็ก  มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

จุดเด่น

              เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา บรรลุตามเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนด และมีแผนงาน/โครงการในการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม เช่น โครงการการจัดการศึกษาปฐมวัย  โครงการใจประสานใจ ร่วมใจพัฒนาการศึกษาปฐมวัย โครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนระดับปฐมวัย ประสานความร่วมมือ พ่อแม่ ผู้ปกครองจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับเด็กปฐมวัยสู่ศตวรรษที่ ๒๑ โครงการประสานความร่วมมือกับพ่อแม่ ผู้ปกครองพัฒนา EF สำหรับเด็กปฐมวัย  โครงการเปิดรั้ววิชาการโรงเรียนบ้านหนองศรีจันทร์ กิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย  เป็นต้น

จุดที่ควรพัฒนา

๑) การพัฒนาด้านร่างกาย โรงเรียนควรวางแผนพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการด้านร่างกายอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือและสนับสนุนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่กีฬาท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ปกครองและชุมชน ร่วมมือกันในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย อย่างต่อเนื่อง

๒) การพัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจ เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกความรู้สึกอย่างเหมาะสม  มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก ได้ทำกิจกรรมเท่าเทียมกันทุกคนและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมทั้งรายบุคคลและกิจกรรมกลุ่ม อย่างต่อเนื่อง

๓) การพัฒนาด้านสังคม เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน   มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในและนอกห้องเรียน เรียนรู้ทักษะชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมให้เหมะสมตามช่วงวัย แก้ไขขัดขัดแย้ง โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง อย่างต่อเนื่อง

          ๔) การพัฒนาด้านสติปัญญา จัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินแก้ปัญหาคิดวิเคราะห์ได้ตามวัย เช่น กิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงการ สะเต็มศึกษา จัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับเด็กปฐมวัย  การเรียนรู้แบบ Active Learning กระตุ้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง การจัดกิจกรรมควรให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าและมีโอกาสค้นพบตนเองให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง

๕) การพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น                พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน เพื่อร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้บรรลุตามเป้าหมาย และเหมาะสมกับวัย อย่างต่อเนื่อง


 

๑.๒  มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารการจัดการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

จุดเด่น

          ๑) มีหลักสูตรสถานศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยและบริบทของท้องถิ่น

          ๒) จัดครูได้เพียงพอและเหมาะสมกับชั้นเรียน

          ๓) มีการส่งเสริมให้ครูมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดประสบการณ์ที่ส่งผลต่อคุณภาพเด็กเป็นรายบุคคล

          ๔) มีระบบบริหารจัดการคุณภาพของสถานศึกษาที่ส่งผลต่อคุณภาพตามมาตรฐานของสถานศึกษาที่ส่งผลต่อคุณภาพตามมาตรฐานของสถานศึกษาและเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมี             ส่วนร่วม

จุดที่ควรพัฒนา

๑)  จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มีการออกแบบการจัดประสบการณ์ที่เตรียมความพร้อม  เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการลงมือปฏิบัติ ตอบสนองความต้องการและความแตกต่างของเด็กปกติและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อย่างต่อเนื่อง

๒)  จัดครูสอนในระดับปฐมวัยให้ตรงกับวิชาเอก หรือผ่านการฝึกอบรมทางการศึกษาปฐมวัย

๓)  ส่งเสริมให้ครูมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดประสบการณ์ โดยการให้ครูเข้ารับการอบรมพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ และนำความรู้มาจัดประสบการณ์ ประเมินพัฒนาการเด็ก วิเคราะห์และออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น มีการประเมินพัฒนาการด้วยวิธีการที่หลากหลายตามสภาพจริงทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล

๔) จัดสภาพแวดล้อมและสื่อการเรียนรู้ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ มีมุมประสบการณ์ในชั้นเรียนอย่างหลากหลาย มีสื่อการเรียนรู้ เช่น ของเล่น หนังสือนิทาน บล็อก เกมการศึกษา เป็นต้น  

๕) จัดให้มีการบริการสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อการเรียนรู้ และวัสดุอุปกรณ์ เพื่อสนับสนุนการจัดประสบการณ์สำหรับครูเพิ่มมากขึ้น

๖) จัดระบบบริหารคุณภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วม สถานศึกษาจะต้องกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินงาน และจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองประจำปี นำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองให้หน่วยงานต้นสังกัดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

          ๑.๓ มาตรฐานที่ ๓ การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ  มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

จุดเด่น

          ๑) ครูมีความรู้ความสามารถ จัดประสบการณ์ให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุลเต็มศักยภาพ มีความรู้และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสอน สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนาตนเอง มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างหลากหลายสอดคล้องกับหลักสูตร มีการแก้ปัญหาเด็กโดยการใช้กระบวนการ PLC มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

          ๒) เด็กทุกคนได้รับประสบการณ์ตรง เล่นและลงมือกระทำผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เรียนรู้อย่างมีความสุข

จุดที่ควรพัฒนา

          ๑) มีการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุลเต็มศักยภาพ ครูต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคล จัดทำแผนการจัดประสบการณ์ตามหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยและบริบทของท้องถิ่น มีการวิเคราะห์มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในหลักสูตรสถานศึกษา มีกิจกรรมที่พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมครบทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญา โดยให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก เพื่อการปฏิบัติต่อเด็กที่คำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญ และความเหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ เช่น การเรียนรู้กิจกรรมในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กิจกรรมการศึกษาแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โครงการการจัดการศึกษาปฐมวัย โครงการใจประสานใจร่วมใจพัฒนาการศึกษาปฐมวัย โครงการประสานความร่วมมือ พ่อแม่ ผู้ปกครองพัฒนา EF สำหรับเด็กปฐมวัย  โครงการเปิดรั้ววิชาการโรงเรียนบ้านหนองศรีจันทร์ โครงการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนระดับปฐมวัย และโครงการประสานความร่วมมือ พ่อแม่ ผู้ปกครองจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับเด็กปฐมวัยสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้น อย่างต่อเนื่อง

          ๒) สร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เล่นและปฏิบัติอย่างมีความสุข ครูต้องจัดประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม ให้เด็กมีโอกาสเลือกทำกิจกรรมอย่างอิสระ ตามความต้องการ ตามความสนใจ ความสามารถ ตอบสนองต่อวิธีการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลหลากหลายรูปแบบจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เด็กได้เลือกเล่น เรียนรู้ ลงมือ กระทำ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในวิถีชีวิตประจำวัน ผ่านการลงมือปฏิบัติ การใช้ประสาทสัมผัสในการสำรวจ และการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เช่น กิจกรรมการทดลองในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทยหลากหลายกิจกรรม เรียนรู้ผ่านโครงงาน ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ การทำขนมวันสารทเดือนสิบ การเล่นเกมการศึกษา เกมการละเล่นทั้งในร่มและกลางแจ้ง เป็นต้น อย่างต่อเนื่อง

          ๓) จัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ใช้สื่อ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัย ครูจะต้องจัดห้องเรียนให้สะอาด อากาศถ่ายเท ปลอดภัย มีพื้นที่แสดงผลงานเด็ก มีพื้นที่มุมประสบการณ์ที่หลากหลาย เช่น มุมหนังสือ มุมศิลปะ มุมบล็อก มุมคณิตศาสตร์ มุมวิทยาศาสตร์ มุมบ้านและมุมดนตรี เป็นต้น เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน เช่น ช่วยจัดป้ายนิเทศประจำหน่วย จัดทำสื่อที่ประดิษฐ์จากเศษวัสดุ ดูแลต้นไม้ ดูแลความสะอาดในห้องเรียนและบริเวณโรงเรียน เป็นต้น ครูผู้สอนจะต้องใช้สื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ระยะความสนใจ และวิถีการเรียนรู้ของเด็ก สื่อของเล่นที่กระตุ้นให้คิดและหาคำตอบ เป็นต้น โดยได้เน้นใช้สื่อที่หลากหลายเพื่อเป็นเครื่องมือและตัวกลางให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ ทั้งที่เป็นสื่อบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ของเล่น ตลอดจนเทคนิควิธีการ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเหมาะสมกับวัยของเด็ก วุฒิภาวะ ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสนใจ ความชอบและความต้องการของเด็กที่หลากหลาย มีทั้งสื่อที่เป็นของจริง สื่อธรรมชาติ สื่อที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก และเป็นสื่อที่เอื้อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า และส่งเสริมการลงมือปฏิบัติจริงของเด็ก เพื่อพัฒนาเด็กให้ครบทุกด้านอย่างสมดุลอย่างต่อเนื่อง

          ๔) ประเมินพัฒนาการเด็กตามสภาพจริง และนำผลการประเมินพัฒนาการเด็กไปปรับปรุงการจัดประสบการณ์และพัฒนาเด็ก ครูจะต้องประเมินพัฒนาการเด็กจากกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กสำหรับการส่งเสริมความก้าวหน้าและช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อพบเด็กล่าช้าหรือมีปัญหาที่เกิดจากพัฒนาการและการเรียนรู้ ไม่มีการใช้แบบทดสอบในการประเมิน แต่ได้ทำการประเมินตามสภาพจริงที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ใช้วิธีการและวิธีการประเมินที่หลากหลายอย่างมีจุดหมาย เช่น การสังเกต สัมภาษณ์ บันทึกพฤติกรรม บันทึกพัฒนาการ หรือแฟ้มสะสมผลงาน เลือกให้เหมาะสมกับศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาการตามวัยของเด็ก ตลอดจนรูปแบบการเรียนรู้ประสบการณ์ที่เด็กได้รับและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กที่มีการเก็บข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยใช้เรื่องราว เหตุการณ์ กิจกรรมตามสภาพจริงหรือคล้ายจริงในชีวิตประจำวัน ให้เด็กมีโอกาสแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ จากการปฏิบัติกิจกรรมหรือสร้างงานที่เป็นผลผลิตเพื่อเป็นการสะท้อนภาพที่แท้จริง มีหลักฐานการประเมินที่น่าเชื่อถือ และสื่อสารผลการประเมินให้แก่ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ในการประเมินทุกครั้งได้ประสานความร่วมมือจากผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม และนำผลการประเมินที่ได้ไปพัฒนาคุณภาพเด็กและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดประสบการณ์ให้มีประสิทธิภาพให้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง

 

๒. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          ๑.๑  มาตรฐานที่ ๑  คุณภาพของผู้เรียน  ผลการประเมินอยู่ในระดับ  ดีเลิศ

จุดเด่น 

๑)  นักเรียนมีความสามารถเข้าร่วมการแข่งขันในระดับภาค และระดับประเทศ ทั้งด้านทักษะ-ทางวิชาการและการกีฬา

๒) ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ได้คะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชาวิทยาศาสตร์ และของนักเรียน สูงกว่า  คะแนนเฉลี่ยทั้งระดับสังกัดสพฐ.

๓) ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน ( Reading Test : RT)                              ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๓ คะแนนเฉลี่ยรวมทั้ง ๒ ด้าน สูงกว่าระดับประเทศ

๔) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ  (Nation Test : NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๖๓ ได้คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ สูงกว่าระดับเขตพื้นที่

จุดที่ควรพัฒนา         

๑)    ความสามารถในการคิดวิเคราะห์

๒)    พัฒนาทักษะในการใช้เทคโนโลยี

๓)    ส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับทักษะอาชีพ ที่ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดได้

 

๑.๒  มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ  มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ

จุดเด่น

โรงเรียนมีการบริหารและการจัดการอย่างเป็นระบบ การทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมปฏิบัติงานของบุคลากรทุกคน โรงเรียนมีเป้าหมาย  วิสัยทัศน์  พันธกิจ ที่กำหนดไว้ชัดเจน  สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนตามความต้องการของชุมชน  วัตถุประสงค์ของแผนการจัดการศึกษาของชาติ  นโยบายของรัฐบาลและต้นสังกัด  ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม  มีการจัดโครงการ กิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมายวิสัยทัศน์ ปรัชญา และจุดเน้น ของสถานศึกษา มีกิจกรรมพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบาย จุดเน้น ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา และมีผลการดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย

มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ และมีความสามารถทำให้การบริการจัดการด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพ ระบบสารสนเทศของโรงเรียน เป็นหมวดหมู่ และเป็นปัจจุบัน ทำให้การบริหารจัดการของ โรงเรียนมีประสิทธิภาพ มีระบบบริหารคุณภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วม กำหนด มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ                    อัตลักษณ์ที่สถานศึกษากำหนด จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาที่สอดรับกับมาตรฐานที่ สถานศึกษากำหนด และดำเนินการตามแผน มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินงาน และจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองประจำปี นำผลการประเมินไปปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และจัดส่งรายงานผลการ ประเมินตนเองให้หน่วยงานต้นสังกัด จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ส่งเสริมและ ตอบสนองความต้องการ ความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน

ครูได้ปฏิบัติหน้าที่ตรงกับความรู้ความสามารถทำให้งานมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองและชุมชน ผู้บริหารให้คำแนะนำ คำปรึกษาทางด้านวิชาการและเอาใจใส่การจัดการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพและเต็มเวลา ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ อาคารเรียนมั่นคง สะอาดและปลอดภัยมี                          สิ่งอำนวยความสะดวก พอเพียง อยู่ในสภาพใช้การได้ดี สภาพแวดล้อมร่มรื่น และมีแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เรียน จัดโครงการ กิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้เรียน จัดห้องสมุดที่ให้บริการสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อให้ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตนเอง หรือเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีการสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ภายในสถานศึกษาและใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนและบุคลากรของสถานศึกษารวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนให้บริการสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายที่ครอบคลุม ให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัยและมีคุณภาพ ทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดที่ควรพัฒนา

เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนา ผู้เรียน สร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้มีความ เข้มแข็ง มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา ส่งเสริม ให้ครูและบุคลากร นำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาครูและบุคลากรควรมีการจัดการอบรมให้ครูทุกคน และสร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยน เรียนรู้ทางวิชาการ โดยจัดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ารับการฝึกอบรม ดูงาน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซ่อมแซม บำรุงรักษาอาคารสถานที่ และสิ่งแวดล้อมให้มีความสะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย

          ๑.๓  มาตรฐานที่ ๓  กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ

จุดเด่น

๑. ครูตั้งใจ มุ่งมั่นในการพัฒนาการสอน

๒. ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนแสวงหาความรู้จากสื่อเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

๓. ครูให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

๔. ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนเรียนรู้โดยการคิด ได้ปฏิบัติจริงด้วยวิธีการและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย

๕. ครูจัดกิจกรรมที่เน้นกระบวนการกลุ่ม การทำงานเป็นทีม การจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานในแต่ละกลุ่มสาระวิชา และระดับชั้นเรียน

จุดที่ควรพัฒนา

ควรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาและปฏิบัติจริงเพิ่มขึ้น และควรให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนทันทีเพื่อนักเรียนนำไปใช้พัฒนาตนเอง

 



ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

     ขายทอดตลาดครุภัณฑ์ยานพาหนะชำรุดและไม่จำเป็นไว้ใช้ในราชการต่อไป 6 ส.ค. 2564
     การเผยแพ่รการประเมินตนเองของสถานศึกษา 29 มิ.ย. 2564
     การเผยแพ่การประเมินตนเองของสถานศึกษา 29 มิ.ย. 2564
     การเผยแพร่การประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self-Assessment Report:SAR) ปีการศึกษา 2563 16 มิ.ย. 2564
     เผยแพร่รายงานการประเมินตนเอง SAR ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนำ้ฉา 9 มิ.ย. 2564


ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2
My Office V 6.4 - 2018 Copyright @T&T-2018 All rights reserved.