บทสรุปของผู้บริหาร
ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา
โรงเรียนบ้านบางเป้า ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต ๒ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๗๕-๒๗๐๖๒๔ หมายเลขโทรสาร ๐๗๕-๒๗๐๖๒๔ e-mail ติดต่อ ๙๒๐๒๐๐๒๙bbp@gamil.com เว็บไซต์โรงเรียน www.banbangpao.com เปิดสอนตั้งแต่ระดับiชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ผู้บริหารสถานศึกษาชื่อ นายทรงวิทย์ อาจหาญ โทรศัพท์ ๐๘๗-๒๗๔๗๙๕๕ มีบุคลากรครูจำนวน ๑๗ คน จำแนกเป็นข้าราชการครู ๑๒ คน ครูอัตราจ้าง ๒ คน เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน ๑ คน พี่เลี้ยงเด็กพิการ ๑ คน วิทยากรอิสลาม ๑ คน มีการจัดการศึกษา ๒ ระดับ คือ
๑. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : การศึกษาปฐมวัย (๓ – ๖ ปี) มีนักเรียนจำนวน ๓๖ คน
๒. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จำแนกเป็น
- ประถมศึกษา มีนักเรียนจำนวน ๖๐ คน
- มัธยมศึกษา มีนักเรียนจำนวน ๕๐ คน
รวมทั้งสถานศึกษา มีนักเรียนจำนวน ๑๔๖ คน
สถานศึกษามีผลการบริหารจัดการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๓ ในภาพรวมมีโครงสร้าง และการบริหารงานอย่างเป็นระบบ โดยมีการแบ่งการบริหารงานเป็น ๔ ฝ่าย จัดระบบข้อมูลสารสนเทศ ผู้บริหารมีภาวะผู้นำที่ดี บุคลากรครูมีความรู้ความสามารถ และมีประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน คณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
ผลงานเด่นของสถานศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๖๓
- เป็นโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกผลงานด้านนวัตกรรม โครงการ ๑ โรงเรียน ๑ นวัตกรรมของโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต ๒
- ได้รับรางวัลวิธีการปฏิบัติที่ดีการบริหารจัดการและจัดการเรียนการสอน (๑ นวัตกรรม ๑ โรงเรียน) ระดับดีเด่น ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต ๒
- ครูจำนวน ๗ คน ได้รับรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๓ คิดเป็นร้อยละ ๕๘.๓๓
ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา
๑. ระดับการศึกษาปฐมวัย ผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม
๑.๑ มาตรฐานที่ ๑ คุณภาพของเด็ก อยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม
๑.๒ มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ อยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม
๑.๓ มาตรฐานที่ ๓ การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ อยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในระดับปฐมวัย ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้ง ๓ มาตรฐาน สืบเนื่องมาจากผลการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้เนื่องมาจากโรงเรียนให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ตามปรัชญาของโรงเรียน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ ส่งผลให้การจัดการศึกษาของโรงเรียนบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ผู้ปกครองให้ความไว้วางใจ นำบุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษา เด็กมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี เกิดการเรียนรู้และ มีความสุขเมื่อทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น อันจะนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคมในอนาคตได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
จุดเด่น
- เด็กปฐมวัยมีความสุขในการเรียนรู้ จากการเคลื่อนไหวประกอบดนตรีและเพลงได้อย่างคล่องแคล่ว มีการทรงตัวได้ดี มีอารมณ์ร่าเริง แจ่มใส กล้าพูดกล้าแสดงออก มีมารยาทที่งดงาม มีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐาน สามารถช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี
- โรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
- โรงเรียนจัดกิจกรรมให้เด็กได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนาน มีพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน ที่เหมาะสมตามวัย
จุดที่ควรพัฒนา
- ควรมีการจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะการจัดประสบการณ์ที่เชื่อมรอยต่อการเรียนรู้ระหว่างชั้นอนุบาลและประถมศึกษา
- ควรประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้มากขึ้น ให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- จัดประสบการณ์ให้ทั่วถึงเด็กทุกคนอย่างต่อเนื่อง และให้ตรงกับความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อส่งเสริมความสามารถของเด็กอย่างเต็มศักยภาพ
แนวทางการพัฒนาในอนาคตเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น
๑. การจัดกิจกรรมที่เน้นกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นกลุ่มอย่างหลากหลาย เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการครบทุกด้าน
๒. ส่งเสริมพัฒนาครูเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการใช้นวัตกรรมในการจัดกิจกรรม พร้อมทั้งติดตามผลการนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง
๓. ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์เด็กอย่างทั่วถึง
๔. การนำผลสะท้อนการจัดประสบการณ์ของครู มาเป็นประเด็นในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป
๒. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม
๒.๑ มาตรฐานที่ ๑ คุณภาพของผู้เรียน มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ
๒.๒ มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม
๒.๓ มาตรฐานที่ ๓ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้ง ๓ มาตรฐาน โดยมีผลการประเมินสรุปอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม ทั้งนี้มีผลที่สนับสนุนการประเมินตนเอง ดังนี้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีความสามารถในการอ่าน การเขียน การสื่อสาร และการคิดคำนวณได้ร้อยละ ๘๑.๓๘ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณได้ร้อยละ ๘๗.๘๖ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด ผลการประเมินการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (National Test : NT) มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม และร่วมกิจกรรมจิตอาสา มีการสร้างสรรค์ชิ้นงานประดิษฐ์ใหม่ๆ ในรูปแบบโครงงาน พร้อมทั้งมีการสอนงานอาชีพให้นักเรียน ทำให้นักเรียนมีผลงาน/ ผลิตภัณฑ์ของนักเรียน และไม่มีอัตราความเสี่ยงการติดสิ่งเสพติด มีโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง ไม่มีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นในโรงเรียน โรงเรียนมีระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศที่พร้อมใช้งาน และมีระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนครูจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์นักเรียน และจัดกิจกรรม Active learning เพื่อส่งเสริมการคิดและปฏิบัติจริงทุกชั้นเรียน และนำความรู้มาจัดทำแผนการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน และเครื่องมือวัดและประเมินผลผู้เรียน ผู้บริหารมีสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน และ มีการประสานความร่วมมือกับชุมชนหรือหน่วยงานภายนอก เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด
จุดเด่น
- สถานศึกษามีการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและได้กำหนดเป็นเป้าหมายทาง การเรียนโดยใช้ฐานข้อมูล ๓ ปีย้อนหลังเป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สูงขึ้น
- ผู้เรียนมีคุณลักษณะและค่านิยมที่ดีตามที่สถานศึกษากำหนด
- การบริหารจัดการศึกษา โดยการประสานความร่วมมือกับชุมชนหรือหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
- มีการจัดแหล่งเรียนรู้ภายในได้เหมาะสม มีสื่อด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
- ครูมีความตั้งใจมุ่งมั่นในการพัฒนาการสอน
- ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
จุดที่ควรพัฒนา
- การจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
- ผลการประเมินระดับชาติ
- กิจกรรมที่มุ่งเน้นยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
- กิจกรรมด้านการอ่านคล่อง เขียนคล่องและคิดวิเคราะห์ให้กับนักเรียนมากยิ่งขึ้น
- การพัฒนาความสามารถด้านภาษาต่างประเทศของผู้เรียนให้มีความสามารถในการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น
แนวทางการพัฒนาในอนาคตเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น
๑. การจัดกิจกรรมที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
๒. ส่งเสริมครูในการจัดกระบวนการเรียนการสอนตามทักษะ/สมรรถนะ (competency-based approach) นำวิธีการและนวัตกรรมการเรียนรู้โดยการบูรณาการเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เน้นการคิดวิเคราะห์และทักษะการคิดขั้นสูง รวมไปถึงการใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ (inquiry- and problem-based approaches) โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง ( Active Learning )
๓. ส่งเสริมพัฒนาครูเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิงปฏิบัติการด้านทักษะและการใช้นวัตกรรมในงานที่ได้รับแต่งตั้งและมอบหมาย พร้อมติดตามนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
๔. การพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมและเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตามมาตรฐานสากล
|